top of page

ท่องเที่ยวกับ “ไม Palapilii Thailand”



‘ไม-ภูวนาท ทานะ’ คือเจ้าของเพจ ‘Palapilii Thailand’ และเป็นวิศวกรที่มีตารางงานประจำอยู่แล้ว แต่อาการ ‘ชีพจรลงเท้า’ ก็กระตุ้นให้ไมต้องออกเดินทางเสมอ จนสามารถผลิตผลงานทั้งบทความและวิดีโอจนมียอดกดไลก์กว่า 3 แสนคนบนเฟซบุ๊ก G Village Co Creation Hub จึงมาทำความรู้จักกับ 'ไม' ว่าแนวคิดในการเดินทางและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในฐานะบล็อกเกอร์ขาลุยของเขามีอะไรกันบ้าง


จุดเด่นให้คนมาติดตามบล็อก


ความบ้าบิ่น คือตอนนั้นยังไม่มีคนนำเสนอเรื่องการท่องเที่ยวแบบเรียล ๆ เราน่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่ทำแนวกิจกรรมผจญภัยอย่างเดินป่า กระโดดน้ำ ดำน้ำ ปีนเขา เดินป่า ถอดเสื้อผ้าเดินบนเขาหิมะ อีกอย่างคือเราไม่ได้เขียนเนื้อหาถึงสถานที่ที่ไปอย่างเดียว แต่เราเขียนถึงเพื่อน ถึงคนรักด้วยภาษาง่าย ๆ แบบจับเข่าเพื่อนคุย จุดนี้จึงทำให้คนติดตามรู้สึกใกล้ชิดกับเราเหมือนเราเป็นเพื่อนเขา


การท่องเที่ยวแบบเรียลๆ ของ 'ไม' เป็นอย่างไร


เป็นการไปแบบไม่ได้วางแผนก่อน ไปแบบไม่คาดหวัง แต่จะมีความคาดหวังบ้างแค่ส่วนที่เป็นแลนด์มาร์กในสถานที่ที่ไป เช่น ไปซาปา ก็คาดหวังว่าจะไปเจอนาขั้นบันไดสวย ๆ แต่ที่ไม่ได้คาดหวังคือ ผมจะต้องได้เพื่อนชาวเยอรมัน หรือเพื่อนสนิทชาวบราซิล หรือเจอกลุ่มคนไทยที่ช่วยเหลือผม



วิธีการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวคืออะไร


เลือกที่กิจกรรมก่อนเลยว่ามีอะไรให้ทำบ้าง ซึ่งกิจกรรมที่ชอบส่วนใหญ่คือ ชอบกระโดดหน้าผาจากที่สูง ๆ ตีลังกาโลดโผน แม้ว่าจริง ๆ แล้วเป็นคนกลัวความสูง แต่ต้องการเอาชนะใจตัวเอง ส่วนกิจกรรมที่ไม่ชอบก็มี เช่น การดำน้ำลึก ๆ ไม่ชอบอารมณ์ที่อยู่ใต้น้ำเพราะเป็นคนอยู่นิ่ง ๆ ไม่ค่อยได้ สมาธิสั้น


การแบ่งเวลาระหว่างการทำงานวิศกรกับการทำบล็อกเกอร์


ปกติงานประจำที่ทำก็แบ่งตารางเป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว ส่วนบล็อกเกอร์จะทำตอนที่สมองแล่น ไม่ใช่จะทำก็ทำได้เลย เพราะบล็อกเกอร์เป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ต้องมีศิลปะในการทำงานมาก ๆ



มีการวางแผนการเงินในการท่องเที่ยวอย่างไร


เรื่องนี้สำคัญมาก ต้องดูว่ามีรายได้เท่าไหร่ ถึงแม้จะมีเงินไป แต่ถ้ากลับมาแล้วลำบากต้องนั่งกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีก 2-3 เดือนก็ไม่ควรไป ต้องไปให้มีความสุขจริง ๆ ไม่ใช่แค่ไปเพื่อถ่ายรูปอวดคนอื่นเพียงเท่านั้น ต้องดูขอบเขต ความสามารถและกำลังทรัพย์ของตัวเองก่อน ทั้งด้านการเงิน ร่างกาย และจิตใจ แต่เรื่องการวางแผนงบก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ไม่มีใครสอนใครได้ เพราะตัวเองจะรู้สถานะของตัวเองดีที่สุด และทุกคนก็จะรู้ตัวเองว่ามีความพอใจที่จะเที่ยว จะกิน จะนอนแบบไหน เช่น บางคนไปเที่ยวทะเล อาจจะไม่ได้สนใจเรื่องการดำน้ำ แต่สนใจเรื่องการใส่ชุดบิกินีอาบแดด ถ่ายรูป


วิธีจัดสัดส่วนระหว่างตัวตนของเรากับโฆษณาที่เข้ามา


โดยส่วนใหญ่โฆษณาที่เข้ามาก็จะเป็นแนวท่องเที่ยวอยู่แล้ว เราก็รับปกติ ส่วนถ้าเป็นการขายของ สินค้าที่ติดต่อมาก็จะตรวจสอบมาอยู่แล้วว่าเรากับเขามีความเกี่ยวข้องกัน แต่ปฏิเสธไปก็เยอะนะ เพราะปีที่แล้ว เรารับงานค่อนข้างเยอะมากจนเราเริ่มขี้เกียจไปเที่ยว หรือตารางไม่ตรงบ้าง หรืออาจจะเป็นสถานที่ที่เคยไปแล้ว หรือถ้าเป็นสิ่งของก็เป็นสิ่งของที่เราไม่ได้ใช้จริง ๆ และไม่ได้ชอบด้วย เช่น ขายลิปสติกก็น่าจะผิดจุดประสงค์แล้ว บางอันที่รับแล้วมาเขียนคอนเทนต์ให้เขา แต่เราไม่ได้อยากทำหรืออยากใช้จริง ๆ มันก็จะกลายเป็นเพียงแค่ความสุขจอมปลอมเสียมากกว่า หรือถ้าเขามาจ้างเรา แต่เขาได้รับผลประโยชน์มากกว่า เราก็ไม่อยากทำ ก็จะปฏิเสธไป



คิดยังไงกับกระแสบล็อกเกอร์ที่เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน


ถ้าเป็นบล็อกเกอร์รุ่นเก่า ซึ่งจริง ๆ ก็อาจรวมถึงบล็อกเกอร์หน้าใหม่ด้วย ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ เพราะทุกวันนี้ทุกคนที่มีกล้อง ถ่ายรูปสวย ๆ ก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้แทบทุกคนเลย แต่อะไรที่เยอะไปก็จะไม่ดี เมื่อมีเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ความน่าเชื่อถือของแต่ละคนก็จะลดน้อยลง แต่คนที่ทำดีจริง ๆ ก็ยังมี คนที่มีแฟนคลับจริง ๆ ก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่มาแป๊บเดียวเดี๋ยวก็หายไป แต่ก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเอง


บทเรียนที่ได้จากการเดินทางคนเดียว


การได้อยู่กับตัวเอง ได้รู้จักตัวเอง อย่างเช่นบางครั้งที่ไปต่างประเทศคนเดียว เราอาจจะคิดว่าเราเป็นคนที่ขี้กลัวมาตลอด แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราต้องเอาชีวิตรอด เราก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ต้องตาย ปกติคนที่เที่ยวบ่อย ๆ จะไม่ค่อยกลัวอะไร กล่าวโดยสรุปคือ แม้ว่าจะได้รูปสวย ๆ แค่ไหน แต่สิ่งที่ได้มากกว่าคือการรู้ใจตัวเอง

ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page