top of page

ผู้สร้างเพจ "ผมเกิดมาเป็นติ่ง"



เพราะคำว่าติ่ง ไม่ได้หมายถึงเด็กผู้หญิงเสมอไป ลองฟังอีกเรื่องราวของแฟนคลับ k-pop ผ่านมุมมอง “อปป้า” ผู้สร้างเพจ “ผมเกิดมาเป็นติ่ง”

จากหลากหลายกระแส k-pop ที่แพร่หลายบนสื่อออนไลน์ของไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ “กิต” หนึ่งในแฟนคลับที่เริ่มต้นจากการชื่นชอบศิลปินวง Girls’ Generation เมื่อ 10 ปีก่อน จนกระทั่งวันนี้เขาได้กลายเป็น “อปป้า” เจ้าของเพจ “ผมเกิดมาเป็นติ่ง” เพจที่เล่าเรื่องราวประสบการณ์การเป็นแฟนคลับเกาหลีผ่าน “แฟนบอย” หรือแฟนคลับที่เป็นผู้ชาย

“เริ่มจากการที่เราติดตามผลงาน แล้วต่อมาไม่ใช่แค่การติดตามแค่ตัวเขา แต่เราสนใจไปถึงบริบทแวดล้อมของเขาด้วย มีครั้งหนึ่งที่ยุนอา (สมาชิกวง Girs’ Generation) ไปทำจิตอาสาที่แอฟริกาใต้ มันทำให้เราได้รู้ไปด้วยว่าที่นั่นเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เป็นการเปิดโลกในหลาย ๆ มุมมอง”

นี่คือคำตอบของกิต เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นแฟนคลับ k-pop


ทำไมถึงเปิดเพจ “ผมเกิดมาเป็นติ่ง”?


มีแพลนมาตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยเลย การเป็นติ่งมันมีอิทธิพลในชีวิตเราหลายอย่างมาก ตอนม.ปลายมีความติ่งมาเป็นแรงบันดาลใจหลายอย่าง เช่น การทำแฟ้มผลงาน นิตยสาร เขียนข่าว ทำให้ในทุก ๆ อย่างของเราถูกหล่อหลอมโดยวัฒนธรรมเกาหลี พอคิดว่าสิ่งนี้เราคงชอบประมาณนึง เราเลยอยากทำให้ความชอบของเราเป็นก้อนอะไรสักอย่าง ได้ส่งผ่านอะไรบางอย่างถึงคนที่ชอบแบบเดียวกับเรา อีกอย่างเราเห็นเพจเกาหลีมันมีเยอะ เราไม่เห็นเพจเป็นผู้ชายจริง ๆ มาเปิดเลยสักเพจเดียว เราอยากทำให้เห็นว่า ผู้ชายก็มีมุมที่ติ่งได้นะ



เราใช้ Facebook ทั้งที่แฟนคลับเกาหลีส่วนใหญ่เล่น Twitter?


ปีก่อนได้ไปงานโซเชียลอวอร์ด มันจะอัปเดตเทรนด์ประจำทุก ๆ ปี ในทวิตเตอร์มันรวมแฟนคลับประมาณนึง คือ 95% นอกจากนี้คือไม่ได้เล่น เราเป็นแฟนคลับส่วนน้อยที่ไม่เล่นทวิตเตอร์เลย ที่เปิดเพจในเฟซบุ๊กเพราะคิดว่ามันจะต้องมีคนที่ไม่ได้อยากติดโซเชียลขนาดนั้น ทวิตเตอร์มันต้องอัปเดตตลอดเวลา มีข่าวไหลมาเรื่อย ๆ แต่เราเองอยากจะมีพื้นที่ให้กับอย่างอื่นด้วย อีกอย่างคือในการวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ ในวงการ k-pop เราสามารถตั้งหัวข้อสนทนาโต้ตอบกันหลาย ๆ คนบนเฟซบุ๊กได้ แต่ในทวิตเตอร์จะเป็นลักษณะการโต้ตอบแบบรายตัวมากกว่า


อะไรที่ทำให้ “ผมเกิดมาเป็นติ่ง” แตกต่างจากเพจแฟนคลับเกาหลีอื่นๆ


อย่างแรกคือการที่เราเป็นผู้ชาย และทำเพจนี้โดยวางตัวเองว่าตัวเราเป็นอปป้าจริง การที่คนมาคอมเมนต์ก็คือเหมือนมางานแฟนไซน์เรา เพราะฉะนั้นเราจะตอบคอมเมนต์ทุกคนจริง ๆ อีกอย่างคือ ด้วยอาชีพหลักที่เป็น Creative Content เราต้องอัปเดตเทรนด์ต่าง ๆ ไปด้วยในตัว เพจเราจึงไม่ใช่แค่การอัปเดตข่าวสารทั่วไป แต่จะมี 2-3 คอนเทนต์ต่อสัปดาห์ ที่เราจะทำขึ้นมาให้แหวกจากเพจอื่น เช่น รวบรวมความหายนะของค่ายเอสเอ็ม หลาย ๆ คนก็จะชอบ


มองเห็นอะไรในสื่อโซเชียลต่อวงการเกาหลียุคนี้?


วงการติ่งไม่ได้ซับซ้อน ข่าวประจำวันต่าง ๆ ของศิลปินมันค่อนข้างเร็ว สิ่งที่เราว่าสำคัญที่มีผลคือการกระจายข้อมูลข่าวสาร แฟนคลับเกาหลีส่วนใหญ่เล่นทวิตเตอร์ บางทีก็จะมีข่าวจากวงใน นั่นทำให้เห็นว่าข่าวมันออกมาจากหลายทางมาก บางครั้งมันยังขาดการแยกแยะว่าอะไรเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง



ในอนาคตอยากให้เพจมีอะไรใหม่ๆ อีก?


อยากจะทำคอนเทนต์ที่เป็นแนวใหม่ ๆ ออกมา ประมาณว่าไปคัดหาผู้ชายที่ลุคดูเป็นอปป้า ลองสัมภาษณ์ เสนอมุมมองบางอย่างเกี่ยวกับการเป็นติ่ง มีความเห็นต่อสังคม แต่ทำให้ดูสนุก ๆ ไม่เครียดจนเกินไป อีกอย่างคือจากที่เฟซบุ๊กกำลังจะปรับอัลกอริทึมอีกที่จะมีผลให้คนเห็นโพสต์ของเราน้อยลง ก็จะรอดูก่อนว่ามันจะมีผลต่อเพจเรามากน้อยแค่ไหน และเริ่มมีแผนว่าจะไปเปิดทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือช่องยูทูบเพิ่มด้วย


คิดว่า k-pop สะท้อนให้เห็นอะไรในวงการบันเทิงไทย


ทุกวันนี้การเพิ่มขึ้นของวัฒนธรรมเกาหลีในบ้านเรามันยังอยู่แค่ในวงแฟนคลับ ไม่ได้เพิ่มไปถึงคนนอกเลย เราเลยยังรู้สึกว่าทัศนคติต่อเกาหลีของคนไทยมันยังเป็นลบ และยังคงเป็นอะไรที่เฉพาะกลุ่มมาก ๆ อยู่ ถ้ามองในวงกว้าง คิดว่าการที่ k-pop มันยังคงดูเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มขนาดนี้ มันมาจากโครงสร้างวัฒนธรรมที่ต่างกันของไทยกับเกาหลี เรามองการสะท้อนคุณค่าวัฒนธรรมต่างกัน ประเทศไทยไม่เคยมีรัฐบาลที่สนับสนุนความบันเทิงมาตั้งแต่ในอดีต บ้านเรายังเห็นว่าวงการบันเทิงดูไร้สาระ ทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านเราไม่ได้ให้ความสำคัญว่าต้องผลักดัน ในขณะที่เกาหลีใต้คิดว่าจะผลักดันการท่องเที่ยว แต่เขาใช้วงการบันเทิงมาผลักดันการท่องเที่ยวอีกที

ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page