สร้างแบรนด์จากจุดด้อยของตัวเอง
เมื่อสัปดาห์งานหนังสือที่ผ่านมา มีงานเปิดตัวหนังสือของแม่ค้าออนไลน์คนหนึ่งที่จากธุรกิจเล็ก ๆ ของเธอวันนี้กลับกลายเป็นธุรกิจที่สร้างเงินล้านให้กับเธอซะอย่างนั้น
เธอคนนั้นคือ “มลฤดี ซื่อสุนทร” หรือ คุณมล เจ้าของแบรนด์ Monsy หรือชุดชั้นใน/ ชุดว่ายน้ำสำหรับสาว ๆ หน้าอกไซส์เล็ก

โดยในงานเปิดตัวหนังสือ “มือใหม่หัดสร้างแบรนด์เงินล้าน” ที่บอกเล่าและแนะนำการสร้างแบรนด์ในฉบับของเธอนั้น มีอยู่ประโยคหนึ่งที่ดึงดูดใจจนผม คิดว่ามันน่าสนใจมากที่จะนำมาเขียนให้ทุกคนได้อ่านกัน เพราะมันเป็นเรื่องง่าย ๆ มากที่จะเริ่มคิดธุรกิจจากประโยคนี้ เธอบอกว่า “เธอสร้างแบรนด์จากจุดด้อยของตัวเอง”
ครั้งแรกที่ได้อ่านหลายคนคงจะงง ปกติมันน่าจะมีแต่สร้างแบรนด์จากจุดเด่นของตัวเองไม่ใช่เรอะ? ผมจะขยายความให้ว่ามันคือการริเริ่มสร้างสรรค์ธุรกิจโดยใช้จุดด้อยของตัวคุณเอง อย่างคุณมลนั้น เธอบอกว่าเธอเป็นคนตัวเล็ก ทำให้เวลาจะหาเสื้อผ้าใส่บางทีก็ไม่มีขนาดของเธอ บวกกับที่เธอเพิ่งเรียนจบและอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอรู้สึกว่าอยากทำเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงไซส์เธอออกมาขาย
หลังจากที่รู้สึกแล้ว สิ่งที่เป็นก้าวหนึ่งของความสำเร็จคือคุณมลเริ่ม “ลงมือทำ” โดยตอนแรกเธอก็ทำเพียงออกแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ดีลโรงงานเองเพื่อให้ทดลองผลิตสินค้าออกมา จากนั้นเธอก็อาศัยการใช้สินค้าเองและใช้สื่อออนไลน์อย่าง Facebook ในการช่วยโปรโมท ซึ่งจุดหนึ่งที่น่าสนใจของคุณมลคือเธอใช้ตัวเองเป็นพรีเซนเตอร์!
โดยเธอให้เหตุผลว่า การที่ผู้ผลิตใช้สินค้าให้เห็นว่าเป็นยังไงนั้นจะเป็นจุดที่ดึงดูดลูกค้าที่ประสบปัญหาแบบเดียวกับเธอได้ดี และเหตุผลอีกอย่างที่สำคัญมากคือค่าจ้างนางแบบมันแพง (ฮา)

จากงานวิจัยของคุณชัยพร ภูทัตโต และคุณชุติมา เกศดายุรัตน์ การทำตลาดผ่านทางสื่อออนไลน์เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เมื่อประกอบกับตัวสินค้าที่มีความแปลกใหม่ทำให้ที่สุดแล้วเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงไซส์เล็กก็กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดเสื้อผ้าบ้านเรา ซึ่งจากบทความออนไลน์ของคุณศศิมา สุขสว่าง จะพบว่านิยามความเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของคุณมลนี้เป็นลักษณะสินค้าที่เป็นนวัตกรรมและเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของโลก
สำหรับคนทั่วไป การคิดธุรกิจจากจุดด้อยของตัวเองเป็นเพียงขั้นแรกเท่านั้น ต้องไม่ลืมว่าเมื่อเราคิดขึ้นมาแล้วไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้จริง เมื่อวิเคราะห์จากงานวิจัยของคุณอรอนงค์ สุเวชวัฒนกุล ทำให้ผมมองว่าเมื่อคิดผลิตภัณฑ์ได้แล้วก่อนลงมือทำ ทุกคนควรศึกษาอยู่ 3 อย่าง
1. ศึกษาตลาดว่ามันมีสินค้าประเภทนี้หรือยัง? เป็นสินค้าใหม่หรือไม่? เราสามารถเข้าไปแทรกในตลาดนั้นได้มั้ย? ถ้ายังเข้าไปได้ก็น่าสนใจ แต่ถ้าเข้าไปแล้วต้องทุลักทุเลเบียดเสียดกับคนอื่น ก็แนะนำว่าให้พักโปรเจกต์ไปก่อนจะดีกว่า
2. ศึกษาศักยภาพความสามารถของตัวเองว่าสามารถไปได้ดีกับธุรกิจนั้น ๆ ที่คิดขึ้นมาได้มั้ย อย่างคุณมลเธอชื่นชอบในการออกแบบเสื้อผ้ามาตั้งแต่เด็ก ซึ่งนั่นเป็นทั้ง Passion และความสามารถของเธอที่สนับสนุนให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ สำหรับคุณ ๆ นั้นก็ต้องลองดูว่าเมื่อคิดขึ้นมาแล้วจะสามารถทำมันได้มั้ย
3. พัฒนากลยุทธ์การตลาด ดูว่าเราจะเอาสินค้าใหม่นี้ไปอยู่ตรงไหนของตลาด จะตั้งราคายังไง? จะจัดจำหน่ายยังไง? เพื่อให้ธุรกิจสามารถรันไปได้อย่างราบรื่น ไม่กระทบต่อตัวเอง ที่สำคัญคือไม่เจ๊ง!!!
การเริ่มทำธุรกิจนั้นไม่ยาก การทำให้มันอยู่รอดต่างหากที่ยาก แต่ถึงอย่างนั้นถ้าเรามีจุดเริ่มต้นที่ดี ที่น่าสนใจ ก้าวต่อไปของการเป็นเจ้าของธุรกิจที่สร้างรายได้ก็คงไม่ไกลเกินเอื้อมเท่าไหร่นัก เอาเป็นว่าขอเอาใจช่วยทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้ให้ได้เป็นเถ้าแก่น้อยในเร็ววันละกันนะครับ ^_^