top of page

เปิดบ้านจอยลดา: เมื่อนิยายกลายเป็นแชท

เคยขึ้นรถไฟฟ้าแล้วเห็นใครสักคนหนึ่งยิ้มกับโทรศัพท์ในช่วงเวลาเร่งด่วนไหม? แน่ล่ะว่าเขาอาจจะกำลังคุยแชทกับใครอีกคน เลื่อน Feed Facebook หรือ Twitter แล้วเจอข้อความตลกๆ หรือยิ่งไปกว่านั้น.. คุณรู้หรือไม่ว่าเขาอาจกำลังอ่านแชทของ “คนสองคนคุยกัน” อยู่ก็เป็นได้

เรากำลังพูดถึงแพลตฟอร์มใหม่ของนิยายออนไลน์ ที่เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ทั้งในวงการนักเขียนและวงการนักอ่าน นั่นคือการเขียนนิยายผ่านการ “แชท” แทนที่จะเขียนเรียงร้อยข้อความออกมาเป็นการบรรยายเหตุการณ์.. ในตอนแรกที่เห็นเพื่อนๆ อ่านทางเราเองก็นึกภาพไม่ออกว่ามันจะออกมาเป็น “นิยาย” ได้อย่างไร จนกระทั่งได้ลองโหลดแอพพลิเคชั่น “จอยลดา” นี้มาศึกษาตามประสาคนชอบอ่าน




“จอยลดา แปลว่า เทพธิดาแห่งความสุขค่ะ ชื่อนี้เกิดขึ้นเพราะคุณหมู (CEO ของ Ookbee) อยากได้ชื่อเล่นสั้นๆ ง่ายๆ ตามด้วยอะไรสักอย่างหนึ่ง ให้เป็นคำง่ายๆ ที่ใครหลายคนเข้าใจ”

ธิดาพร พฤกษมาศวงศ์ (เมย์) และ ภรณภัทร ไชยสิงห์ทอง (จ้อ) Community Manager แห่งจอยลดาแนะนำแอพพลิเคชั่นที่เป็นเหมือนเพื่อนยามเหงานี้ให้เราได้รู้จักในห้องประชุมของตึก Ookbee ก่อนพาเราเดินทางไปยังก้าวแรกของจอยลดาที่เริ่มขึ้นเมื่อหนึ่งปีก่อน

จอยลดาเริ่มจากอะไร?


จริงๆ เมย์กับจ้อทำงานอยู่ที่ Ookbee อยู่แล้ว แต่เป็นส่วนอื่น ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับนิยายเหมือนกัน นั่นคือ ธัญวลัย ด้วยความที่แอพฯ นิยายออนไลน์มีเยอะมาก เลยคิดว่าอยากให้นิยายออนไลน์มีกิมมิคและความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เพื่อสร้างความแตกต่างให้ไม่เหมือนกับนิยายออนไลน์ทั่วไป ซึ่งจริงๆ ก่อนหน้านี้เรามีลองผิดลองถูกกันมาก่อน ว่าอยากทำแบบอื่นด้วย แต่พอมาลองทำดูแล้วมันดูยากมากเลย

เริ่มต้น “ลองทำจอยลดา” มาตั้งแต่ตอนไหน


เราเริ่มคิดกันมาตั้งแต่ประมาณเดือนเมษายน และปล่อยแอพพลิเคชั่นออกไปตอนเดือนกรกฎา ช่วงนั้นเราทำงานกันหนักมาก อยู่กันเหมือนเข้าค่าย กลับบ้านคือนอนอย่างเดียว (หัวเราะ)

เหมือนได้เข้าค่ายกันประมาณสองเดือน ?


ใช่ค่ะ ทั้งฝั่งที่หาเนื้อหามาว่าจะทำแบบไหน ฟีเจอร์ โปรแกรมเมอร์ เหมือนเข้าค่ายกันเลย เพราะเราอยากทำมากๆ ส่วนหนึ่งเราก็ไฟมา ไม่อยากทำช้า ก็เลยรีบทำ

ทีมมีกี่คน


จริงๆ คือเรามีนิยายออนไลน์มาก่อนแล้ว ก็คล้ายๆ ว่าเราเป็นทีมเดียวกัน ไม่ได้แบ่งแยกชัดเจนขนาดนั้น เลยกลายเป็นเหมือนเราดูสองอันไปพร้อมกันในช่วงนึง ก่อนที่มันจะ launch แล้วพอเรา launch พอมันดี มันลงตัวอะไรหลายๆ อย่าง เราก็ค่อยเขยิบๆ มากขึ้น



เรา launch แอพพลิเคชั่นออกไปยังไง ?


ตอนแรกเรายังไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากมีเพจก็ปล่อยขึ้นสโตร์เฉยๆ และด้วยความที่เรามีฐานจากทางเว็บเก่า เราก็เอาไปโปรโมทอยู่ในเว็บเก่านิดหน่อย เพื่อให้เป็นฐานคนอ่านให้วิ่งมาที่นี่ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ดังขนาดนั้นแต่ก็ทำให้มีคนเห็นเยอะขึ้น

แล้วแอพนี้เริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ตอนไหน ?


หลังจากนั้นประมาณเดือนหนึ่ง ซึ่งคือเดือนสิงหา เป็นช่วงที่นิยายเรื่องไพรเวทหวี และกุเชอร์รี่เริ่มขึ้นมาแล้ว เหมือนตอนนั้นที่คนอ่านได้ไปลองเล่นกันในทวิตเตอร์และเริ่มรีทวิต จนกลายชุมชนไป

ดังนั้นกระแสของแอพพลิเคชั่น เกิดขึ้นจากการบอกปากต่อปากในทวิตเตอร์?


คิดว่าใช่นะ เราแทบไม่ได้ทำอะไรกับทวิตเตอร์เลยในตอนแรก แต่มันเกิดจากไวรัลในทวิตเตอร์ขึ้นมา เหมือนมันใหม่และสนุกดี เขาก็คุยกัน และด้วยความที่นิยายที่เขาแต่งเป็นเกาหลี (แฟนฟิคชั่น) เขาก็มีกลุ่มที่อยากจะให้อ่านแบบนี้อยู่แล้ว ยูสเซอร์ก็จะไปแชร์ต่อกันเอง

ทำไมต้องเป็นนิยายแชท?


เรามาเจอว่า ยุคสมัยนี้ เป็นยุคที่ทุกคนแชท และเราก็เห็นเรื่องเล่า อย่างตอนนั้นที่มีการแคปแชทที่เล่าเรื่องเหมือนเรื่องแต่งขึ้นมา เลยทำให้เรารู้สึกว่า มันดูเวิร์คนะ แล้วอย่างเว็บไซต์อื่นที่เขาเอาเรื่องต่างๆ มาเล่า กระทู้ต่างๆ มันก็ดูสนุกดี จริงๆมันคือการเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการเล่าเรื่อง แค่นี้มันก็สนุก ตื่นเต้นแล้ว ก็เลยวางแผนกันว่าถ้าอย่างนั้นทำแบบเป็นแชทมั้ย ในช่วงแรกๆ ก็คิดกันว่า มันจะสนุกมั้ย ก็เลยลองทำ ลองแชทแต่งเรื่องอ่านกันเองก่อนว่าเราสนุกมั้ย ซึ่งก็สนุกและตื่นเต้นดี หลังจากนั้นก็เลยลองเริ่มดีไซน์ เช่น ถ้าให้กดแชทขึ้นมามันจะดูตื่นเต้นกว่า แล้วก็มีกิมมิคด้วย ไม่ใช่การไถอย่างเดียว ซึ่งเราสามารถมีอารมณ์ร่วมไปกับมันได้เหมือนเราอยู่ในสถานการณ์ด้วย ได้ลุ้นว่าข้อความต่อไปจะเป็นอะไร ไม่ใช่แค่อ่านแต่เหมือนเราได้เล่นมากกว่า หลังจากนั้นก็ลองปล่อยออกไปดู ถ้าไม่เวิร์คก็ค่อยเอากลับมาแก้ใหม่



จอยลดาเป็นโปรเจ็คที่พวกเรา “ลอง” กันเยอะมาก ลองให้รู้ว่ามันโอเคไหม ถ้าโอเคก็ไปต่อ อย่างจอยลดา เราไม่ติดว่ามันจะต้องเป็นแชทตลอดไป นั่นเพราะด้วยเรารู้สึกว่าวันนึงการสื่อสารเปลี่ยนมาเป็นแชทได้ และถ้าในอนาคตการสื่อสารมันเปลี่ยนรูปแบบไปอีก ถ้าไม่ใช่แชทแล้วเป็นอย่างอื่น เราก็สามารถทำแพลตฟอร์มให้รองรับ คล้ายๆการสื่อสารแบบนี้แหละ เพียงแต่ว่าอีกมุมนึงเราเอามาใช้ในการเล่าเรื่องมากกว่า ถ้าเน้นจริงๆ เราอยากอยู่กับเรื่องเล่า อยากอยู่กับสตอรี่มากกว่า แต่ว่าตัวแพลตฟอร์มของเราไม่ได้ผูกติดว่าจะต้องเป็นแชทตลอดไป แต่คือถ้าสมมติตอนนี้เราเป็นแชท และเราก็รู้สึกว่า ความเป็นแชท อะไรที่มันต้องมี เราก็อยากเพิ่มมันเข้ามาให้คนเขียนได้ใส่ฟีเจอร์ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์

มีฟีเจอร์อะไรที่กำลังจะปล่อยออกมาเร็วๆ นี้ไหม


ล่าสุดเรากำลังจะ launch ตัวที่มียูทูป น่าจะเป็นช่วงอาทิตย์หน้า ซึ่งสามารถกดจากในจอยและฟังยูทูปได้เลย

แสดงว่าเราพัฒนาตลอดเลยจนถึงตอนนี้


ใช่ ก็คือจริงๆ เรามีการอัพเดทเยอะมาก ฟีเจอร์จะขึ้นเร็วมาก ก็อัพเดทเรื่อยๆ แพลนยาวมาก

ทุกวันนี้เราแบ่งทีมยังไง


เราแบ่งทีมเป็นทีม Developper และทีม Community โดยในนั้นก็จะแบ่งกันอีกที ว่าฝั่งเดฟฯ ใครทำเซิฟเวอร์ ทำ IOS ทำ Android ทำเว็บ ส่วนฝั่งคอมมูฯ ใครเป็นคนตอบยูสเซอร์ ใครดูเรื่องลงทะเบียน ดูภาพรวม ดูที่ต้องติดต่อกับนักเขียน

ประชุมกันเยอะไหม ?


ฝั่งเดฟจะประชุมทุกวันอยู่แล้ว อย่างฝั่งคอมมูฯ ก็จะคุยกันเรื่อยๆ เหมือนบางทีเราแทบจะไม่ได้ประชุม แต่ก็คุยกัน หลายๆ ครั้งมันไม่เหมือนการนั่งประชุมกันในห้อง ด้วยความที่เราเป็นสตาร์ทอัพ ฟลอร์เราจึงกว้างมาก เดินถึงกันทุกแผนก บางทีเราแค่สงสัยอะไรบางอย่าง ก็เดินไปคุยกันแล้ว กลายเป็นมีตติ้งย่อมๆ ยืนกัน 5-6 คน และด้วยความที่พนักงานของเราเป็นวัยเดียวกัน ทุกคนจะเข้าถึงกันเร็ว เราจะค่อนข้างวัยรุ่นมากๆ ผู้บริหารเราก็วัยรุ่นมากเหมือนกัน เขาก็จะมาเสนอไอเดียเขาเพิ่ม แล้วถ้าเราเสนอแล้วเขารู้สึกว่าดี เขาก็จะเพิ่มนะ เขาก็จะให้สิทธิในการที่เราอยากทำอะไร ค่อนข้างเปิดกว้าง

ถ้าอย่างนั้น ตอนนี้ยังเข้าค่ายอยู่ไหม?


ช่วงนี้ไม่ค่อยเข้าค่ายแล้ว แต่เร็วๆนี้อาจจะมีเข้าค่าย และปรับเปลี่ยนอะไรอีกเยอะเหมือนกัน แต่ส่วนตรงนั้นเราเพิ่มเริ่มๆ คุยกันว่าจะทำอะไรเพิ่ม แต่ช่วงหลังๆ มานี้นอกจากที่มีประเทศไทยแล้ว ด้วยความที่ประเทศไทยมันโตเร็ว ดูจากเดือนสิงหาที่เห็นว่ามันโตเร็วมาก และช่วงสิงหานี้เราก็ได้เริ่มทำแอพของต่างประเทศแล้ว โดยเริ่มทำที่อินโดนีเซีย แต่ว่า launch ช่วงพฤศจิกายน ซึ่งเรามีทีมที่นั่นอยู่ด้วย

ทำไมถึงเลือกอินโดนีเซียเป็นประเทศแรก


พราะบริษัทอุ๊คบีมีที่อินโดด้วย เราก็เลยขยายจากสิ่งที่เรามีก่อน แล้วก็ค่อยเขยิบไปที่อื่นจะดีกว่า เพราะเรามีทีมอยู่แล้ว มันก็คล้ายๆ กัน เราก็จะเขยิบทีมที่ทำอยู่แล้ว มาช่วยดูส่วนนี้เพิ่ม ก็ค่อยๆ ลองดู เป็นสตาร์ทอัพ เราลองกันเยอะ

สนใจจะขยายไปประเทศอื่นบ้างไหม


เราคิดว่าเรามีแพลนในหลายประเทศในเอเชียเหมือนกัน หลังจาก launch ในอินโดนีเซีย เราก็เตรียม launch ของประเทศอื่นๆต่อไป อย่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เราก็อยากทำ

ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ จอยลดามีการเติบโตยังไงบ้าง


ตอนนี้เรามีแอคทีฟยูสเซอร์เป็นล้าน ตั้งแต่เริ่มมาจากศูนย์

ช่วงที่ยูสเซอร์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดคือช่วงไหน


ช่วงแรกเลยนะ ช่วงไพรเวทหวี กุเชอร์รี่นี่แหละ แล้วมันก็ติดลม ยาวมาเรื่อยๆ เป็นกราฟที่เร็วมาก แต่มาช่วงปีนี้ที่มาก็ไม่ได้ถึงขั้นหวือหวาเท่าปีที่แล้ว แต่ว่าก็ยังอยู่ในช่วงที่ดีอยู่

คอนเทนต์ที่คนเขียนชอบเขียน เป็นคอนเทนต์แนวไหน ?


แอพเราเป็นวัยรุ่น ก็เลยเป็นเรื่องความรักวัยเรียน ความรักนักศึกษา ซึ่งบางเรื่องก็จะมีกิมมิคเพิ่มตรงที่เอาเรื่องอาชีพมาใส่เพิ่ม แต่ว่าก็ยังเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับความรักอยู่ เพราะด้วยความที่มันเป็นแชท เลยจะต้องมีความกุ๊กกิ๊ก แต่จริงๆ คิดว่า ตลก เบาสมอง ก็ยังเป็นแนวที่ทุกคนชอบทั้งคนอ่านและคนเขียน อย่างน้อยๆ ในชาร์ตจะต้องมีเรื่องตลกๆ อยู่

มีวิธีเลือกนิยายให้ขึ้นเทรนด์ยังไงบ้าง


จริงๆ เทรนด์เราใช้ระบบเซตเลย เราเขียนโปรแกรมไว้เลยว่า ในวันนี้มีคนเข้าอ่านเรื่องนี้เยอะมาก มันก็จะถูกขึ้น มันยังไม่ได้มากที่สุด เพราะมากที่สุดจะอยู่ในชาร์ตอยู่แล้ว เราอยากให้กระจายออกให้เห็นเรื่องที่กำลังจะดังด้วย มันก็จะเป็นระบบเซตไว้เลย แต่ถ้าที่เป็นสตาฟปัก ก็จะเป็นสตาฟเป็นคนเลือก ซึ่งเขาก็พยายามดูเทรนด์ พยายามอ่านว่าอันไหนสนุก พยายามเกลี่ยให้กระจายๆ ออก ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจบ้าง เราก็ตามใจได้บ้างไม่ได้บ้าง

ติดต่อกับนักเขียนยังไง ?


นักเขียนจะแจ้งปัญหาให้เราได้รู้ คือเราอยากทรีตคนทำคอนเทนต์ของเรา รับฟังความเห็นจากยูสเซอร์โดยตรงเพื่อบอกต่อ เราก็สนใจเนื้อหาที่มันเป็นนิยายด้วย ถ้าอะไรที่มันทำเกี่ยวกับนิยายได้ เราก็จะคุยกันกับน้องนักเขียนเรื่อยๆ นะ เช่นอันนี้ดี อันนี้ควรมี หรืออย่างถ้าจอยมีอีเวนต์ บางทีเราก็เอานักเขียนไปด้วย

เรามองยูสเซอร์เป็นใครในองค์กร


เขาเหมือนเป็นคนให้คำปรึกษา หลายๆ อย่างที่เราปรับ หลายๆ อย่างที่เราทำมันเป็นเพราะว่าเราได้คอมเมนต์มาแล้วอันไหนที่โจทย์มันยากมากๆ เราก็สุ่มโทรเลยด้วยซ้ำว่าเราอยากทำแบบนี้ เขาโอเคไหม? อยากเก็บข้อมูลจริงๆ อยากคุยด้วยจริงๆ

อะไรที่ทำให้จอยโตได้ขนาดนี้


น่าจะเป็นความใหม่ ความที่มันต่าง กิมมิคเข้าถึงคนยุคนี้ที่ใช้เทคโนโลยีแบบนี้ มันก็ถูกเอาเทคโนโลยีนั้นมาปรับเป็นการเล่าเรื่อง เกิดเป็นความใหม่ที่หาไม่ได้จากอะไรที่เคยมีเมื่อก่อน


อนาคตเรามองเห็นจอยเป็นยังไง


ในอนาคตถ้ามันมีเทคโนโลยีอื่น เราก็อยากทำเรื่องเล่าบนเทคโนโลยีนั้นๆ เราอยากให้ตัวเองเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เล่าเรื่อง ถ้าวันนึงที่ไม่ใช่แชทแล้วก็อยากหมุนตามไปนะ อยากให้เป็นเรื่องเล่า เพราะสตอรี่มันน่าสนใจ ทุกคนอยากเข้าถึงสตอรี่

ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page