เล่าเรื่องผ่านโฆษณาห้โดนใจคนดู!!!
เมื่อครึ่งปี 2560 ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีวิดีโอโฆษณาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากที่เผยแพร่กันอยู่บนโลกออนไลน์ แต่มีเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่กลายเป็นที่จับตามองและถูกพูดถึง
Google ประเทศไทยประกาศผล YouTube Ads Leaderboard โฆษณาสัญชาติไทย 10 อันดับแรกที่ได้รับความนิยมในการเข้าชมสูงสุดบน YouTube ในครึ่งปีที่ผ่านมา โดยผลงานวิดีโอโฆษณาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 คือวิดีโอความยาว 3 นาทีครึ่งของผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผม Sunsilk เรื่อง “ปาฏิหาริย์เปลี่ยนชีวิตสาวติ่ง จากผมสั้นเป็นผมยาว” โดยมียอดวิวมากกว่า 10 ล้านครั้ง
โฆษณาเล่าถึงตัวละครหลัก 2 ตัว คือ ตัวละครที่ “ผมยาว” และตัวละครที่ “ผมสั้น” ที่มีชื่อว่า “มินต์” และ “ติ่ง” ตามลำดับ ด้วยความที่ติ่งเป็นสาวผมสั้นทำให้ถูกกีดกันออกมาจากการเป็นเพื่อนเจ้าสาว ด้วยเหตุนี้เธอจึงบอกว่ามีแต่ปาฏิหาริย์เท่านั้น ที่จะช่วยให้เธอผมยาวทันงานแต่งเพื่อนได้
ตรงจุดนี้เอง ที่การเล่าเรื่องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดึงผู้ชมให้เกิดความสนใจ แม้ว่าจะเป็นพล็อตพื้นฐานทั่วไป แต่ด้วยกลวิธีประกอบทั้งความตลกขำขัน เสียงดนตรี ก็ช่วยให้การเล่าเรื่องเป็นไปอย่างน่าสนใจ น่าติดตาม เพราะคนดูก็อยากรู้ว่าติ่งจะทำอย่างไร จะผมยาวทันมั้ย แล้วพอผมยาวแล้วเป็นยังไง ซึ่งพล็อตเบสิคนี้ก็ตอบโจทย์ทั้งในแง่ของความเรียบง่าย การดึงดูดผู้ชม และคนดูสามารถกดดูได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเสียเวลา
เป็นเรื่องน่าสนใจว่าการเล่าเรื่องในโฆษณากำลังเป็นเทรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะมันทำให้โฆษณาแตกต่างจากเจ้าอื่น เป็นที่จดจำได้มากกว่าโฆษณาที่ขายกันแบบตรง ๆ ไม่มีลูกเล่น
ตามทฤษฎีการเล่าเรื่องของนักทฤษฎี Alvarado มองว่าเรื่องราวนั้นเป็นส่วนเติมเต็มเพื่อให้แก่นที่ต้องการสื่อสารนั้นเกิดความน่าสนใจและผู้รับสารสามารถตีความตามจุดประสงค์ของผู้เล่าได้
ไม่ใช่แต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในสิงคโปร์เองก็เริ่มมีการให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์เทคนิคใหม่ ๆ มาใช้กับงานโฆษณาเช่นกัน
Nic Burrows หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของ Google’s Creative Think Tank ระบุว่าผู้ชมในยุคปัจจุบันมีการเข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์ได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว และผู้ชมเหล่านี้ต่างยินดีที่จะรับชมวิดีโอโฆษณาไม่ว่ามันจะยาวแค่ไหน ด้วยเงื่อนไขสำคัญเพียงอย่างเดียว คือ ต้อง “ดี”
นอกจากนี้เขายังบอกว่า การคิดโฆษณานั้นควรก้าวออกมาจากการคิดเนื้อหาที่เป็นแบบ Hard Sell คือมุ่งแต่จะขายอย่างเดียว แต่ควรสร้างสรรค์เนื้อหาที่จะ Touchผู้ชมมากขึ้น ทำให้พวกเขาอินและคล้อยตามไปกับสารที่เราต้องการสื่อ
ซึ่งงานวิจัยของวิษณุ สุวรรณเพิ่ม บอกว่าหนึ่งในหลักการโน้มน้าวให้ผู้ชมหันมาสนใจสินค้านั้นคือปัจจัยเรื่องอารมณ์ การโน้มน้าวใจผู้ชมด้วยอารมณ์นั้นมีหลายเทคนิคด้วยกัน ไม่ว่าจะทำให้ขำ ทำให้กลัว หรือทำให้ตื่นเต้น และโฆษณารางวัลนี้ก็ได้อาศัยการเล่าเรื่องเพื่อสร้างความรู้สึกน่าสนใจ และน่าติดตามให้เกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก
ดังนั้นพูดโดยสรุปก็คือ ณ ปัจจุบันนี้การสร้างสรรค์โฆษณาให้เหนือไปกว่าการขายสินค้าเป็นสิ่งที่หลายแบรนด์ต้องเริ่มให้ความสำคัญ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายของการโฆษณาคือเหล่าบรรดาผู้ชมที่เข้าถึงโลกออนไลน์กันได้อย่างแพร่หลาย โดยมี “การเล่าเรื่อง” เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่แต่ละแบรนด์สามารถหยิบมาใช้ได้ เพราะต้องยอมรับว่าเดี๋ยวนี้การทำให้คนดูรู้สึกอินได้มีผลอย่างยิ่งต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการ อย่างน้อย ๆ Sunsilk ก็คงได้ลูกค้าผมสั้นที่อยากผมยาวไปมากเลยทีเดียวจากโฆษณาตัวดังกล่าว