แม่ตุ๊กแห่งเพจ ‘Little Monster’

‘being a mom is the coolest job in the world’
จากวันแรกที่เริ่มสร้างเพจเพราะมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด จนถึงวันนี้ ‘แม่ตุ๊ก’ ได้ให้คำปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น ๆ ผ่านเพจ ‘Little Monster’ จนมียอดติดตามถึง 2 ล้านคนบนเฟซบุ๊ก นอกจากนี้รางวัล Best Influencer on Social Media สาขา Kids & Family ที่งาน Thailand Zocial Award 2018 ก็เป็นการการันตีถึงเนื้อหาและความน่ารักของครอบครัวเจ้าของเพจได้อย่างดี วันนี้ G Village Co-Creation Hub จึงชวนแม่ตุ๊กมา สรุปบทเรียนที่ได้เรียนรู้มาตลอด 5 ปีให้ฟังกัน
บทเรียนของแม่ตุ๊ก
หากเป็นเมื่อก่อน บทเรียนที่เราได้รับจากการเป็นแม่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องการควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ให้ปรี๊ดบ่อยนัก ไม่ให้โมโหใส่ลูกบ่อยนัก ถ้าปัจจุบันเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราได้ชัดเจนก็คือ เรื่องคุณค่าของเวลา ตุ๊กเป็นแม่ที่ทำงานด้วย ตอนนี้ความรับผิดชอบในหน้าที่ก็สูงขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่ามันมีสิ่งที่เราต้องทำเยอะแยะไปหมดเลย แล้วลูกก็โตไวมาก มันจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราทำงานหนัก แล้วให้คุณยายช่วยดูเด็ก ๆ เผลอแป๊บเดียว ลูกมีพัฒนาการเยอะมาก เราเลยรู้สึกว่าเราพลาดหลาย ๆ อย่างไป เพราะว่าเรามัวแต่ทำงาน มันเลยทำให้เราเรียนรู้ว่าคุณค่าของเวลามันสำคัญแค่ไหน ซึ่งตรงนี้มันต้องมีการบาลานซ์ที่ดีมาก ๆ เลย
เราก็เลยมาตั้งหลักใหม่ คืองานก็ยังทำเยอะอยู่ แต่เราจะให้ความสำคัญกับลูกเป็นหลักมากขึ้น เช่นเรื่องกิจกรรมที่โรงเรียน หรือว่าพาเขาไปเที่ยว หรือว่าแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เราได้อยู่กับเขา อย่างเช่นลูกกลับหลังจากเลิกเรียน แทนที่เราจะทำงานต่อ เราก็จะอยู่กับเขา เราฟังเขา เล่นกับเขาจริง ๆ ไม่ใช่เราอยู่กับเขาแล้วเรามองแต่มือถือ นี่เป็นสิ่งที่เราให้คุณค่ามากขึ้นจากการที่เราได้เป็นแม่

การจัดการเวลาของแม่ตุ๊ก
ตอนมี "จิน" (ลูกสาวคนโต) เราว่าเราก็แบ่งเวลาได้โอเคระดับหนึ่ง คือก็ทำงานเฉพาะตอนลูกหลับ แต่พอมี "เรนนี่" (ลูกคนเล็ก) การทำงานในรูปแบบนั้นจะค่อนข้างยากกว่าเมื่อก่อน ตอนมีจินคนเดียวก็เริ่มทำไม่ได้แล้ว เรนนี่เขาตื่นบ่อย หิวน้ำบ้าง เจ็บเหงือกบ้าง เราก็ทำงานได้ไม่ยาวเท่าไหร่ ช่วงเวลาที่เราทำงานจริง ๆ จะดึกมากไปเลยคือตีสาม เราก็รู้ว่าร่างกายเราไม่ไหวแล้ว

หลักการแบ่งเวลาปัจจุบันก็คือ เราไม่รับทุกอย่างไว้คนเดียวแล้ว จะเริ่มแบ่งงานให้น้อง ๆ ทำ เช่น กราฟิกเราก็ไม่ได้ลงมือเอง จะทำแต่เฉพาะงานเขียน ส่วน Little Munchy เราก็ไม่ได้ลงมือทำทุกอย่าง จะมีทีมมาร์เก็ตติ้งและทีมกราฟิก ส่วนเราจะอยู่ในพาร์ทของคนคิดและดูภาพรวม
ช่วงเวลาที่จินเขาไปโรงเรียน เรนนี่นอนกลางวันบ้าง ช่วงนี้เราจะทำงานเขียนได้มากขึ้น ตุ๊กจะพยายามทำงานในแต่ละวันไม่เยอะมาก เช่น วันนี้เราทำอันนี้ให้เสร็จ อันอื่น ๆ ก็ยกไปวันอื่น จะดูลำดับความสำคัญของแต่ละงาน จะพยายามทำแบบนี้เพราะตัวเองเป็นคนชอบทำงานมาก ถ้าเราทำทุกอย่างเอง เวลาให้ลูกก็น้อยลง เราก็จะเหนื่อยเกินไป
ความท้าทายในฝึกภาษาอังกฤษให้ลูกตั้งแต่ยังเด็ก
คือความท้าทายในการฝึกภาษาให้ทั้งจินและเรนนี่ คือการที่เขาไม่ยอมพูดกลับมา แต่แพทเทิร์นการตอบสนองจะเหมือนกันทั้งคู่ คือเขาเข้าใจภาษาอังกฤษที่เราพูดหมดเลยนะ อย่างเรนนี่ผ่านไปสักประมาณ 7 เดือน เขาเข้าใจแล้วว่าเราบอกเขาให้ไปเปิดไฟ-ปิดไฟ เปิดประตู-ปิดประตู เอาน้ำให้แม่หน่อย ดื่มน้ำมั้ย กินข้าวอีกมั้ย เราพูดเป็นภาษาอังกฤษ เขาเข้าใจแล้วเขาทำหมดเลย แต่เขายังไม่โต้ตอบกับเราเป็นภาษาอังกฤษ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ยากในช่วงเริ่มต้น
แม่ ๆ หลายคนก็อินบ็อกซ์เข้ามาถาม พูดภาษาอังกฤษกับลูก ทำไมลูกไม่พูดตอบกลับมา จะมีคุณแม่บางท่านที่ท้อ ทำไมไม่เริ่มพูดตอบกลับมาสักที เราก็ให้กำลังใจว่ามันต้องใช้เวลา ต้องใช้ความสม่ำเสมอ ใช้ความอดทนเยอะ อันนี้คือความท้าทายหลักในการฝึกภาษาอังกฤษให้ลูก สำหรับตุ๊กอยากให้คุณพ่อคุณแม่สบาย ๆ มันไม่ได้เห็นผลเร็วขนาดนั้น บางคนอาจใช้เวลาเป็นปี ๆ ก็ได้ ถ้าเรายังมีความสม่ำเสมอพูดกับลูกเรื่อย ๆ มันก็จะได้ในที่สุด

"เรียนรู้ภาษาไปพร้อมกัน" ตามแบบฉบับของแม่ตุ๊กคืออะไร
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ไม่ดีมากนัก ตุ๊กว่าตรงนี้ให้เราคิดว่าเราเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกเลย อย่างตัวตุ๊กก็ไม่ใช่คนที่รู้คำศัพท์เยอะ ถ้าตุ๊กไม่รู้ ตุ๊กก็จะจดเอาไว้ในมือถือแล้วเอามาหาอีกทีหนึ่ง แล้วเอาไปพูดกับเขา มันจะช่วยเราได้เยอะ คุณพ่อคุณแม่อาจจะมีสมุดโน้ตเล็ก ๆ คู่ใจติดมือเอาไว้ นึกอะไรไม่ออกก็จดแล้วเอาไปหาข้อมูลเพิ่ม และถ้ากังวลเรื่องสำเนียงที่ไม่เหมือนเจ้าของภาษา ตุ๊กว่ามันสามารถดูสื่อต่าง ๆ ที่มาช่วยในเรื่องสำเนียงได้ เช่นการ์ตูน แต่อาจต้องเลือกหน่อยว่าการ์ตูนเรื่องไหน หรือเป็นนิทาน เดี๋ยวนี้จะมีนิทานที่เป็นปากกาพูดได้ แค่เราจิ้มไปเขาก็จะพูดให้เรา ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยเราได้ หลัก ๆ คือพยายามทำให้การพูดภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสนุก ไม่ต้องเป็นเรื่องเครียดอะไร หรือว่าลองหาสิ่งที่เขาชื่นชอบหรือสนใจ ทำออกมาในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ