Picnicly คอนเทนต์ย่อยง่าย อ่าน 3 ป้ายรถเมล์ก็จบ

“เราเน้นคอนเทนต์ย่อยง่าย ๆ อ่านแค่ 3 ป้ายรถเมล์ก็จบ” จากประโยคที่ว่า คือจุดเด่นของเพจ Picnicly เพจท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์เจ้าของยอดไลก์กว่า 2 แสนบนเฟซบุ๊ก นำทีมโดยสองครีเอเตอร์อย่างคุณ "ลุค" และคุณ "เต้" ซึ่งเป็นคู่รักกันในชีวิตจริง นอกจากจะนำเสนอเรื่องไลฟ์สไตล์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เหล่าลูกเพจแล้ว ทั้งคู่ยังขอเป็นกระบอกเสียงในการนำเสนอเรื่องราวของชาว LGBT ให้สังคมไทยได้เข้าใจอย่างถูกต้องอีกด้วย
คนไทยไม่ชอบเสพอะไรยาว ๆ จริงหรือ
ก็ไม่นะครับ ส่วนตัวผมคิดว่าสามารถแบ่งคนกลุ่มนี้ได้เป็นสองประเภทนะครับ ถ้ากลุ่มที่ชอบอ่าน เค้าก็จะชอบอ่านอะไรยาว ๆ อยู่แล้ว เค้าก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องของคอนเทนต์ยาว ๆ แต่ถ้าตอบในฐานะการเป็น Influencer หรือการที่เราขับเคลื่อนคอนเทนต์ด้วยเพจ ผมก็จะขอสั้น ๆ ไว้ก่อน ทำอะไรให้มันสั้น ๆ อ่านง่าย ค่อย ๆ สร้าง Awareness ให้คนอ่าน อารมณ์เหมือนจะจีบคน ๆ นึง คือทำให้เค้าสนใจเราสักนิดนึงก่อน พอเค้าเริ่มติดตามแล้วก็ค่อย ๆ สามารถขยายความยาวของคอนเทนต์ได้
เทคนิคการทำคอนเทนต์ให้สั้น ย่อยง่าย แต่ไม่ตกหล่น
สิ่งสำคัญเลยคือต้องทำสคริปต์ก่อนครับ อย่างน้อยต้องเรียบเรียงก่อน จะได้ไม่มีอะไรตกหล่นไปจากสิ่งที่เราต้องการที่จะสื่อ คือคนที่ตั้งใจทำให้สั้นก็ต้องมีการลิสต์ไว้เป็นบูลเล็ตพอยท์ก่อน จะได้เนื้อหาครบและไม่เสียเวลามาแก้ไขทีหลัง ยกตัวอย่างเต้ทำคลิปยูทูบใช่มั้ยครับ คือยูทูบเนี่ยเป็นการที่เราสร้างคอมมูนิวตี้กับคนดู มีการ interact กันในระดับนึง เราก็เอาฟีดแบกที่คนดูให้มาทำต่อ อย่างเช่น พวกคอมเมนต์ต่าง ๆ เวลามีคนมาคอมเมนต์ติหรือขอให้ปรับปรุง พวกเราจะไม่รู้สึกว่าพลาดนะ เพราะการที่มีคนมาคอมเมนต์ เราก็เอาตรงนั้นแหละมาปรับ แก้ไข เพื่อให้เป็นแนวทางสำหรับคลิปต่อ ๆ ไป เราก็ทำคลิปตามที่เค้าเสนอบ้าง เราไม่เอาคำติเหล่านั้นมาบั่นทอน ผมสนุกด้วยซ้ำ อย่างผมเคยทำทีวีมาก่อน คือมันเช็คเรตติ้งได้จริง แต่มันไม่เรียล เราไม่รู้ว่าคนดูต้องการอะไรจริง ๆ ไม่เหมือนกับยูทูบ
ถ้าลดเหลือสถานีรถไฟแค่ 2 ป้าย Picnicly ทำได้หรือไม่ คอนเทนต์จะครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร
ก็อาจจะไปไม่ถึงป้ายก็ได้ครับ (หัวเราะ) การครีเอทคอนเทนต์สั้น ๆ ข้อดีคืออย่างน้อยคนดูก็รู้ว่าเราเป็นใคร ต้องการจะสื่ออะไร เวอร์ชันสั้นนี้จะเป็นเหมือน Trailer ภาพยนตร์ แต่ไม่ใช่ว่าสั้นขนาดคนดูไม่ได้อะไรเลย ได้แต่ความตื่นเต้น ก็ยังคงมีสาระอยู่ ไม่จำเป็นต้องไปดูเวอร์ชันยาว แต่ถามว่าได้สาระเท่าเวอร์ชันยาวมั้ย ก็ไม่ เพราะเหมือนเราสร้างเป็นตัวเลือกให้คนดู ในเฟซบุ๊กก็จะสั้นประมาณนี้ ๆ ถ้าเค้าอยากดูต่อก็สามารถเข้าไปดูที่แชนแนลยูทูบได้ ยกตัวอย่างเช่น เรารีวีว 10 เมนูอร่อย เวอร์ชันเฟซบุ๊ก เราก็จะลงแค่ 3 เมนู ก็ไปดูเมนูที่เหลือได้ในยูทูบ คนดูจะได้ครบทั้งสองแบบ เพราะเรารู้ว่าธรรมชาติของคนเล่นเฟซบุ๊กและยูทูบจะต่างกัน

ประเด็น LGBT ณ ปัจจุบันบนโลกออนไลน์
ค่อนข้างดีในแง่ของไม่มีความรุนแรงแล้วสังคมก็เปิดกว้างมากขึ้น แต่เรื่องสิทธิเราจะไม่แตะอยู่แล้ว เราจะพยายามเริ่มจากอะไรที่ใกล้ตัวก่อน อย่างในแง่ของเพจ Picnicly เอง ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพิ่งมาขอรูปจากเต้กับลุค เป็นเซ็ตรูปภาพงาน Gay Festival ที่จัดโดยนิตยสาร Attitude Magazine ไปออกโบรชัวร์ ซึ่งเนื้อหาในหนังสือจะเป็นเกี่ยวกับ LGBT โดยเฉพาะ เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวเชิง LGBT ของประเทศไทย ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีนะครับ ที่เรื่องนี้กลายมาเป็นสิ่งที่รัฐบาลมองเห็น สนับสนุนให้ชาว LGBT สามารถมาเที่ยวได้โดยไม่ต้องกลัว เป็นเรื่องที่เปิดมากขึ้น รัฐบาลก็ได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ถ้ามุมมองของเต้ ในมุมที่เราเป็นสื่อออนไลน์ เราเป็นเพจที่สนับสนุน LGBT อยู่แล้ว เราจะทำคอนเทนต์สนับสนุนเรื่องนี้ คือให้คนที่อยากรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น เข้าใจว่าต้องทำตัวยังไง เช่น ผู้ปกครองที่มีลูกเป็นเกย์แล้วอาจจะทำตัวไม่ถูก ไม่รู้ว่าต้องวางตัวยังไง ก็จะสามารถหาแนวทางที่ถูกต้องได้จากเพจของเรา
Social Media เป็นเครื่องมือช่วยในการขับเคลื่อนหรือไม่ อย่างไร
ยกตัวอย่างเพจของเราเองก็ถือว่าได้เป็นกระบอกเสียงให้สังคมครับ อย่างส่วนตัวลุคกับเต้ก็เป็นห่วงกลุ่มคนที่เค้ายังไม่เปิดตัว เค้าอาจจะกำลังกลัว ๆ กับกระแสสังคม อย่างบางทีเวลาคนที่เค้าไม่เห็นด้วยเข้ามาดูคลิปของเรา ก็จะมีคอมเมนต์ไปในเชิงลบบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง อาจทำให้คนที่ยังไม่เปิดตัว พอเข้ามาดูคลิปรู้สึกไม่ดี ก็จะเข้าใจกันผิด ๆ ไปได้ เพจของเราก็เลยอยากทำให้ทั้งคนที่ไม่เห็นด้วยและคนที่ยังไม่กล้าเปิดตัวสามารถเข้าใจในเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น

โปรเจกต์ในอนาคตของ Picnicly
คิดว่าจะเชื่อมโยงไปกับความเป็น LGBT เป็นหลักครับ พยายามทำให้สังคมไทยเห็นว่าการเป็นเกย์ก็คือการมีชีวิตธรรมดา เราก็ไม่ได้แปลกหรือแตกต่างไปจากคนอื่น แสดงไลฟ์สไตล์ของพวกเราผ่านการไปกิน ไปเที่ยว เพราะก็มีบางคนที่อาจจะไม่รู้จักเราสองคนมาก่อน ก็จะสงสัยว่าสองคนนี้เป็นเกย์รึเปล่า เป็นแฟนกันใช่มั้ย เราอยากลบภาพว่าคนที่เป็นเกย์ไม่จำเป็นต้องเป็นคนวี้ดว้ายหรือเสียงดัง เราก็เป็นแค่คู่นึงที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกได้เหมือนคนทั่วไป ตั้งใจว่าอยากจะไปเที่ยวให้มากขึ้น ทำคอนเทนต์แนะนำสถานที่เที่ยวให้เยอะขึ้น เพื่อที่อยากให้คนที่ไม่พร้อมเปิดตัวหรือเปิดใจ พอมาเห็นเรารีวิวที่เราถ่ายทอดให้เห็น รู้สึกอิจฉา ว่ามันมีสถานที่แบบนี้ มีที่แบบนี้ให้ไปเที่ยวด้วยหรอ ด้วยการล่อให้เค้าไปเที่ยว เค้าจะได้รู้สึกว่ามันเปนเรื่องปกติ ถ้าคุณพร้อมจะเปิดตัว คุณก็จะแฮปปี้และมีความสุขในแบบของคุณเอง คือเรามี key message ที่ซ่อนอยู่ในคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ความจริงแล้วเราต้องการเสนอว่าพวกเราก็เป็นคนธรรมดาทั่ว ๆ ไปเนี่ยแหละ ที่ใช้ชีวิตเหมือนกันกับคนอื่น ๆ